ประวัติความเป็นมาของคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์

คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2538 โดยยกฐานะจากภาควิชาสามัญ ที่มีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ป.วส.) และหมวดวิชาศึกษาทั่วไปให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขาวิชาที่เปิดทำการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ในขณะนั้น

ในปีการศึกษา 2538 คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้รับอนุมัติให้เปิดทำการเรียนการสอน หลักสูตร 4 ปี จำนวน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจและหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์

ในปี พ.ศ. 2547 ได้รับอนุมัติให้เปิดทำการเรียนการสอนเพิ่มอีกหนึ่งหลักสูตร คือ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้รับอนุมัติให้เปิดทำการเรียนการสอนหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต เพิ่มอีก 1 หลักสูตร ได้เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2543 และเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในภาคการศึกษาที่ 2/2543

ปีการศึกษา 2553 คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ให้จัดตั้งศูนย์บริการการศึกษานอกสถานที่ตั้ง หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2553 และเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในภาคการศึกษาที่ 1/2553 คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นคณะวิชาที่มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพด้านเทคโนโลยีภาษา ความเป็นผู้นำ และจริยธรรม โดยมีพันธกิจหลัก 4 ด้าน คือ การผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม นอกจากหน้าที่หลัก คือการผลิตบัณฑิต โดยการจัดการเรียนการสอน สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ทั้งระดับปริญญาตรี และปริญญาโท แล้วคณะศิลปศาสตร์ฯ ยังมีหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ให้แก่ สาขาวิชาที่เปิดทำการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยฯ อีกส่วนหนึ่งด้วย ทั้งนี้ เพื่อสนองนโยบายและวัตถุประสงค์ของสภามหาวิทยาลัยและคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในการที่จะพัฒนานักศึกษาในสาขา วิชาชีพให้ได้เรียนรู้ถึงวิวัฒนาการและอารยธรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสังคมและประเทศชาติ ตลอดจน การปรับตัวเพื่อให้รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเองในฐานะพลเมือง การอยู่ร่วมกันในสังคม แนวทางการ ใช้ชีวิตที่มีความรับผิดชอบต่อตนเอง และสังคม